24 กันยายน 2553
Gulab Jamun
Gulab Jamun เป็นขนมหวานที่เป็นที่นิยมอย่างหนึ่งของ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศ ทำจากแป้งผสมนมปั้นเป็นลูกกลมๆนำมาทอดแล้วลอยในน้ำเชื่อม
โดยส่วนตัวรู้สึกว่ารสชาดคล้ายกับขนมทองหยอดบ้านเราแต่ลูกใหญ่กว่า และหวานมากกว่า ผิวด้านนอกแข็งกว่านิดหน่อยเพราะขั้นตอนการทำผ่านการทอดมาด้วย เป็นขนมที่ใช้ในงานมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน หรืองานประเพณีที่สำคัญ ที่เห็นขายทั่วไปจะมีทั้งแบบแห้ง และแบบลอยอยู่ในน้ำเชื่อม
มีขายอยู่ตามร้านขนมทั่วๆไป
ราคาลูกละประมาณ 5-6 รูปี ซื้อทานเองหวานประมาณนี้ ลูกเดียวอิ่ม ทานน้ำตามด้วยไม่งั้นทานได้ไม่หมด
เคยไปบ้านน้องที่เป็นคนอินเดียเค้าเอามาให้ทาน ใจนึงก็กลัวทานไม่หมด จะไม่ทานก็ไม่ได้เพราะมันเป็นมารยาท เพื่อนคนไทยก็กระซิบบอกว่า อย่าให้โดนลิ้นนานมันหวานมากกัดสองคำ กลืนเลย แล้วรีบดื่มน้ำตาม
แต่พอทานหลายครั้งก็ทานได้ เริ่มชินกับรสชาดความหวานแบบสุดๆ ทานทีละนิด คู่กับน้ำชาหรือน้ำอัดลมก็อร่อยดี ยิ่งช่วงเรียนเสร็จบ่ายโมงเวลาดีกำลังหิวได้ ขนม 1 ลูก กับน้ำอัดลมขวดเล็กอีกซักขวด อิ่มพอดี แต่ทานทุกวันคงไม่ไหว ไม่ได้กลัวอ้วน แต่กลัวว่าโรคเบาหวานจะถามหา
มีขายแบบเป็นของฝากก็มีหลายยี่ห้อ แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไปประจำก็เห็นยี่ห้อนี้ แบบสำเร็จรูปแล้วซื้อไปทานได้เลย แต่ยังไม่เคยซื้อซักที
ถ้ากลับไทยจะลองซื้อกลับไปให้ที่บ้านลองชิมมั่ง
ขอบคุณรูปภาพจาก
http://www.google.com
25 สิงหาคม 2553
หนังตะลุง(Shadow Puppet)
คือ ชื่อเรียกตัวหนังแกะสลักเป็นรูปภาพขนาดเล็ก คีบด้วยไม้ตับอันเดียว เชิดภายในโรงให้แสงไฟส่องผ่านตัวหนังสร้างเงาให้ปรากฏ บนจอผ้าขาวหน้าโรง โดยมี ปี่ กลอง และฆ้องบรรเลงเพลงประกอบ เป็นการเล่าเรื่องที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้อง เป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า การ "ว่าบท" และมีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ โดยผู้ที่เป็นนายหนังตะลุงจะเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
จากหลักฐานเก่าแก่เกี่ยวกับหนังตะลุงที่บ่งชี้ว่า หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงน่าจะมีต้นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพัทลุง จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
ธนิต อยู่โพธิ์ (2522 : 1-2) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังตะลุงว่า “มหรสพพื้นบ้านที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวไทยสมัยโบราณอีกอย่างหนึ่ง"
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ (2525 : 180) ได้แสดงทรรศนะไว้ว่าหนังตะลุงเป็นการละเล่นที่ไทยได้รับมาจากชวา โดยกล่าวว่า หนังตะลุงเป็นการละเล่นของชวาที่มีมาก่อน ศตวรรษที่ 11แล้วแพร่หลายเข้ามายังมาลายู และภาคใต้ของไทย โดยที่ชาวมลายูหรือมาเลเซียในปัจจุบันเรียกว่า วายังกุเล็ต (ไทยใช้วายังกุลิต)
“วายัง” แปลว่ารูปหรือหุ่น “กุเล็ต” แปลว่าเปลือก หรือหนังสัตว์รูปที่ทำด้วยหนังสัตว์ และตัวหนึ่งที่เข้ามาสู่ประเทศไทยหรือชวาก็ตามจะเห็นว่ามีรูปร่างลักษณะที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากมนุษย์ธรรมดา เป็นเพราะความเชื่อของชาวชวานั้นไม่นิยมสร้างรูปคนที่เป็นที่เคารพนับถือ การทำตัวหนังจึงได้สร้างให้มีลักษณะที่ต่างไปจากคนธรรมดา ซึ่งลักษณะนี้ปรากฏอยู่ในตัวหนังไทยโดยเฉพาะตัวตลก
เหตุที่มีผู้เรียกการเล่นโดยใช้เงานี้ว่า “หนังตะลุง”
เกิดจากการเริ่มนำ “เสาตะลุง” ซึ่งเป็นเสาสำหรับผูกช้าง เพราะชาวชวาที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ในภาคใต้ของไทยและยึดอาชีพเลี้ยงช้าง รับจ้างทำงาน เมื่อถึงกลางคืนก็ก่อไฟขึ้นกันยุงกันหนาวและได้มีผู้หนึ่งเอาเล็บจิกเจาะใบไม้ขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ และจับใบไม้นั้นเชิดเล่นอยู่หน้ากองไฟให้เงาของใบไม้ที่เป็นรูปต่างๆ ไปปรากฏใกล้ๆ ปากก็ร้องเป็นทำนองประกอบไปตามการเชิดใบไม้
และจากแนวความคิดนี้ได้วิวัฒนาการจากการแกะใบไม้ซึ่งไม่ถาวรมาเป็นการแกะด้วยหนังสัตว์
ส่วนการเชิดแทนที่จะเชิดให้เงาไปปรากฏที่อื่นๆซึ่งอาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจน ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ผ้าขึงเข้ากับเสาตะลุง และอาจจะโดยเหตุนี้เองจึงเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “หนังเสาตะลุง”
และเมื่อเวลาผ่านไปจึงเหลือเรียกเพียง “หนังตะลุง”ตามสำเนียงสั้นๆ ของภาษาพื้นเมือง หนังตะลุง
ที่เล่นกันตั้งแต่เดิมไม่ได้เรียกว่าหนังตะลุงอย่างเช่นทุกวันนี้ หากแต่เรียกกันว่า “หนัง” หรือบางทีเรียกว่า
“หนังควน” เพิ่งมาเปลี่ยนเรียกหนังตะลุงกันในสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนที่หนังเข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ และหนังสมัยนั้นเป็นหนังของคนพัทลุง เมื่อเข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ ก็อาจจะเรียกเพี้ยนไปจาก “พัทลุง” มาเป็น “ตะลุง” ก็เป็นได้
สำหรับอินเดีย เริ่มมีการแสดงหนังตะลุงหลังพุทธกาลเล็กน้อย ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจจะได้รับอิทธิพลการแสดงหนังตะลุงมาจากอินเดียก็ได้เนื่องจากการเข้ามาซึ่งการขยายอำนาจทางวัฒนธรรม ศาสนา การค้าขาย เป็นต้น
อุดม หนูทอง (2533 : 1) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงในภาคใต้ว่ามีความสัมพันธ์กับทางอินเดีย โดยกล่าวไว้ว่า เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์และสภาพความเป็นจริง เกี่ยวกับหนังตะลุงก็จะพบว่า หนังตะลุงแบบอินเดีย ชวา บาหลี มาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทย มีความสัมพันธ์กันในหลายประการ เช่น ด้านธรรมเนียมการแสดง รูปหนัง ดนตรี ตลอดจนความเชื่อบางประการแต่ก็มีรายละเอียดต่างๆ แตกต่างไปตามวัฒนธรรมและประเพณีและศาสนา รวมทั้งการพัฒนาการแสดงของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังตะลุงในภาคใต้ของประเทศไทยกับหนังตะลุงของชวามีร่องรอยความสัมพันธ์กันหลายประการ และต่างก็มีวัฒนธรรมของอินเดียผสมอยู่อยู่อย่างเด่นชัด
หนังสือมหกรรมหนังตะลุงเทิดพระเกียรติ เฉลิม สิริราชสมบัติครบ 50ปี (2539 : 1-2) ได้กล่าวในเรื่องประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงในส่วนของการศึกษา บทพากย์ฤๅษีและบทพากย์พระอิศวร ได้ความว่า ทราบว่าเดิมทีหนังตะลุงเป็นเรื่องของพราหมณ์กลุ่มที่นำหนังตะลุงเข้ามาในประเทศไทยน่าจะเป็นพวกที่นับถือฮินดูลัทธิไศวะนิกาย คือ บูชาพระอิศวรเป็นใหญ่ ซึ่งลัทธินี้ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี น่าจะตกอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13 แต่มิได้หมายความว่าหนังตะลุงจะเข้ามาพร้อมกับลัทธินี้อาจ จะเป็นช่วงหลังก็ได้ แต่คงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 18
อย่างไรก็ตาม หนังตะลุงนอกจากจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ที่มีประวัติสืบต่อกันมาอย่างช้านานแม้นักวิชาการยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าหนังตะลุงเกิดขึ้นมาที่ไหน และเมื่อใดนั้น แต่นักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่าหนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่อย่างหนึ่งและเป็นการละเล่นที่นิยมกันมากในภาคใต้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและก็เป็นศิลปะประจำชาติของไทยอีกแขนงที่ควรอนุรักษ์เอาไว้มิให้สูญหาย
จากหนังตะลุง เมืองนครศรีธรรมราช สู่สายตา ชาว B.H.U. ในวันที่ 23 สิงหาคม 2553
โดย คุณพ่อ สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) พุทธศักราช 2549 หนึ่งในคณะผู้แสดงที่มากับคุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ภูมิใจที่ได้ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยสู่ระดับสากลไม่ว่าจะเป็นประเทศ เยอรมันนี ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น และครั้งนี้ที่อินเดีย โดยผ่านการติดต่อจากสถานทูตไทยในอินเดียไปยังกระทรวงวัฒนธรรม การเดินทางมาแสดงครั้งนี้คณะผู้แสดงได้ทำการแสดงใน 3 แห่ง คือ New Delhi, Lucknow และ ที่นี่ B.H.U. Varanasi
การแสดงจัดขึ้นในโรงละครของคณะ Performing arts ใน B.H.U. บรรยากาศในวันนั้นทำให้รู้สึกว่าชาวอินเดียให้ความสนใจในการแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างมาก มีนักเรียนหลายคนสนใจถาม เรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงิน ที่ท่องเที่ยว และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนอินเดีย
ส่วนใหญ่รู้จักประเทศไทยเพราะประเทศไทยเรามี “ช้างเผือก” หลังจากการแสดงสิ้นสุดลง ได้มีการถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับผู้แสดง มีครูที่นาฏศิลป์อินเดียท่านหนึ่งเดินเข้ามาขอถ่ายรูปกับคุณพ่อ สุชาติ และบอกให้เราช่วยบอกท่านว่า “ฉันชอบการแสดงของคุณมาก” ในขณะนั้นความรู้สึกที่เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในความเป็นไทยของเรา
ศิลปะประจำชาติไม่ว่าจะเป็น สาขาใด ก็ตาม ขอเพียงคนไทยรุ่นหลัง ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานต่อ ศิลปะประจำชาติที่งดงามของไทยเราก็คงจะไม่สูญหาย
คุณพ่อ สุชาติ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งได้ใช้ความพยายามที่จะสืบสานศิลปะการแสดงหนังตะลุงเอาไว้เพื่อให้ หนังตะลุงของไทย เป็นที่รู้จักของชาวโลก และก็ยังคงอยู่คู่ชาติไทยไป ตราบนานเท่านาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.panyathai.or.th/wiki/index.php/หนังตะลุง
www.nattakarnlks.ob.tc/
24 สิงหาคม 2553
ซื้อ Scooter อินเดีย
ดังนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะซื้อสกู๊ตเตอร์ (Scooter)ซักคัน
สกู๊ตเตอร์ คือ รถจักรยานยนต์ขนาดเบา มีล้อขนาดเล็ก เป็นยานพาหนะที่เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคหลังสงครามโลก เนื่องจากมีราคาถูก และสวยงาม ในปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังนิยมใช้อยู่ เรามักจะเห็นสกู๊ตเตอร์ที่ขับไป-มา แถวพาหุรัด นั่นแหละ สกู๊ตเตอร์มีเกียร์อยู่ตรงแฮนด์ด้านซ้าย จำนวนเกียร์แล้วแต่รุ่น ก่อนสตาทรถต้องตะแคงก่อน เวลาจอดต้องยกขาตั้งขึ้น
ขั้นตอนการซื้อสกู๊ตเตอร์ก็ทำได้หลายวิธี คือ
1.ออกตระเวณหาตามร้านซ่อมมอร์เตอร์ไซด์ต่างๆ
2.สั่งจองกับแขกที่ร้านซ่อมมอร์เตอร์ไซด์ต่างๆนั่นแหละ
3.บอกให้เพื่อนๆช่วยหาอีกแรง
คอยอยู่2เดือน ปกติชอบสกู๊ตเตอร์แบบมี 2 เบาะ เลือกมากเลยคอยนานนิดนึง ราคาอยู่ที่ 3,200 รูปี
-ค่าโอน 400 รูปี
-ค่าซ่อมเกียร์ 1,900 รูปี
-ค่าปะผุ,ทำสี ,อุปกรณ์ตกแต่ง ประมาณ 3,000 รูปี
-ติดขาตั้งแบบรถสกู๊ตตี้ เพราะไม่มีแรงยกรถเวลาจอด
รวม 8,500 รูปี คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,000 บาท
แต่งออกมาแล้วเป็นแบบนี้
หลายคนมักจะถามว่าเป็นผู้หญิงทำไมซื้อสกู๊ตเตอร์เพราะมีเกียร์ขับยาก บ้างก็บอกว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงขี่ พอขี่ไปก็มีแขกมองเหมือนกัน เพราะผู้หญิงอินเดียไม่ค่อยขี่ แต่เห็นผู้หญิงต่างชาติ (ฝรั่ง) ซิ่งประจำ
ข้อดีของสกู๊ตเตอร์ในอินเดีย คือ
-ราคาถูก
-ค่าอะไหล่ถูก
-ช่างซ่อมมีความชำนาญ
-รถสวย
-ขับไม่ยาก (ตัวเองขับรถยนต์เกียร์กระปุกได้ ก็เลยคิดว่าไม่ยาก)
ข้อเสีย(สำหรับเราเอง)
-ต้องตะแคงก่อนสตาท
Raksha Bandhan Festival
เป็นเทศกาลที่มีขึ้นในช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวง( Shravana) ของฮินดูในประเทศอินเดีย คือประมาณปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน ปีนี้ตรงกับวันที่ 24สิงหาคม 2553
เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความรักบริสุทธิ์ ระหว่างพี่ชายกับน้องสาว โดยน้องสาวจะผูกเส้นด้ายที่ข้อมือของพี่ชายเพื่อเป็นการให้คำสัญญาว่าจะเป็นพี่ น้องกันไปตลอด การผูกข้อมือนี้ไม่จำเป็นว่า น้องสาวจะผูกให้พี่ชายร่วมพ่อแม่เดียวกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ญาติ หรือเป็นเพื่อนที่ดีก็สามารถผูกให้กันได้
วันสำคัญนี้ B.H.U ก็หยุด 1วัน
ภาพจาก
http://www.google.co.th
27 เมษายน 2553
อยากจะกินโรตี...ที่อินเดีย
ด้วยความอยากกินจึงยังไม่ลดละความพยายาม ต่อมาจึงใช้วิธีการ ทดลอง จะดีกว่าของเค้าก็มีอยู่แล้ว เพราะอาหารจำพวกโรตีก็มีอยู่มากมาย เคยทานบ้างไม่เคยทานบ้าง บางอย่าเคยทานแต่ก็ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไรสรุปก็มาลงตัวที่
Egg roll
Egg roll ที่มีขายอยู่ทั่วไปคือ เอาแป้งที่นวดแล้วคลึงเป็นแผ่นบางๆมาทอดกับน้ำมันเล็กน้อย แล้วราดตามด้วยไข่เจียวที่ใส่เกลือนิดหน่อย กลับด้านแล้วทอดต่อจนเหลืองพอดี หลังจากนั้นก็เอาลง ใส่แตงกวาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หอมซอย มะเขือเทศซอย แล้วตามด้วยซอสพริกและซอสมะเขือเทศ ลักษณะการห่อก็จะม้วนกระดาษแบบบ้านเราแต่จะม้วนแค่ครึ่งเดียว พร้อมที่จะทานได้เลย
ราคาอันละ 12 รูปี
Chicken egg roll ก็ทำวิธีเดียวกันกับ Egg roll แต่เพิ่มไก่ผัดลงไปด้วย รสชาดของไก่จะเผ็ดนิดหน่อย ราคาอันละ 27 รูปี
แต่ที่อยากทานมันไม่ใช่แบบนี้ อยากทานแบบโรตีใส่ไข่แล้วจิ้มกับนมข้นนี่นา ก็เลยสั่ง Egg roll แบบไม่ใส่ผัก ไม่ใส่ซอส สั่งอยู่ประมาณ 2 ครั้ง ถึงจะโด้ทานแบบที่ต้องการ
ความผิดพลาดในการสั่งครั้งแรก คนขายงง เผลอเอาแตงกว่าใส่มา แล้วก็เอาออก เวลาทานมีกลิ่นแตงกวาด้วยเลยไม่ค่อยอร่อย
ครั้งที่สอง ตั้งคอยจับตาดูว่าใส่อะไรแปลกปลอมมาอีกรึเปล่า
ครั้งที่สาม โอเค คนขายจำได้แล้ว ว่าเรากินแบบแปลกๆในความรู้สึกของเค้า ดูเค้าเป็นห่วงและสงสัยว่า ที่เราสั่งแค่นี้มันจะไปอร่อยอะไร ราคาอันละ 12 รูปีเท่าเดิม แต่รับรองว่าจิ้มกับนมข้นอร่อยแน่นอน
แล้วก็ยังมีโรตีสำเร็จรูปหาซื้อได้ตามตู้แช่แข็งอาหารประเภท veg ในร้านมินิมาท นำมาทอดกับเนย หรือน้ำมันได้เลย แป้งนุ่ม กรอบ รสชาติเหมือนโรตีบ้านเรา แต่ดูเหมือนแป้งจะอร่อยกว่า เวลาซื้อต้องสังเกตว่าเป็นแบบ Plain roti ถ้าซื้อผิด อาจได้โรตีแบบปรุงรสสำเร็จรูปมา แบบมีพริก หรือมีหัวหอมมาด้วย
ที่ซื้อทานประจำ 4 แผ่น ราคา 61 รูปี แต่รสชาติก็คุ้มกับราคา
ไม่ต้องห่วงเรื่องที่ซื้อนมข้น เพราะที่อินเดียก็มีขายตามร้านขายของชำใหญ่ๆ บอกคนขายว่า Milk maid ราคากระป๋องละ 65 รูปี
เคยไปสั่ง Nan ที่ร้านอาหารกับรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็หยิบนมข้นออกมาพวกเราก็ทาน Nan จิ้มกับนมข้นกันอย่างเอร็ดอร่อย แต่ก็ตลกตรงที่แขกเค้าก็งงกันเกือบทั้งร้านว่า พวกต่างชาตินี่มันทานอะไรกันแบบนี้ ของคาวบ้านเค้า แต่กลายเป็นของหวานบ้านเรา เค้าสั่งทานกับแกง แทนข้าวกัน เราทานแบบจิ้มนม เราก็ว่าอร่อยในแบบของเราอ่ะนะ
ไหนๆก็แนะนำเกี่ยวกับเรื่องโรตีแล้ว ก็ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
แป้งที่ทานกับแกงของอินเดีย เช่น
1 โรตี(Roti) หรือจาปาตี(Chapatti) เป็นประเภท แป้งทอด ใช้น้ำมันนิดหน่อย
2 นาน(Nan) เป็นประเภท แป้งปิ้ง เคยเห็นเค้าแปะแป้งในโอ่งใหญ่ๆ มีหลาบแบบ เช่น Butter Nan, Garlic Nan
เคยไปทานตามร้านอาหาร ในเมืองพาราณสี ส่วนใหญ่นอกจากข้าว แล้วก็จะสั่ง Nan ทานกับ Mutton curry รับรองความอร่อยเช่นเดียวกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก (รูปเค้าสวยดูท่าท่างน่าทานดี)
http://4.bp.blogspot.com/_saXl4PQEjbA/RsEcDnJGPNI/AAAAAAAAAm4/vb-4Ofe0N8I/s400/Picture+005.jpg
25 เมษายน 2553
พาราณสี...ก็มีอาหารอร่อย
ขอเริ่มจากแหล่งขายอาหารตอนเย็นที่หน้าตลาดลังกาออกจากหน้า B.H.U. จะอยู่ทางด้านขวามือ ใกล้ๆกับต้นโพธิ์ จะมีของอร่อยๆอยู่หลายที่เหมือนกัน
ร้านแรกอาหารอินเดียประเภททานเล่นที่อยากจะแนะนำ ก็คือ ชีสปุรี
ชีสปุรี จะมีรสชาด เปรี้ยวๆเค็มๆหวานๆ มีผักด้วย อร่อยดี ชุดนึงมี 6 ชิ้น ราคา 12 รูปี
เห็นประมาณนี้แต่ขอบอกว่า...อร่อย
ต่อไป
ขอนำเสนอร้าน ไอศครีมร้านนี้ มีทั้งแบบ ถ้วย แบบโคน และแบบเหลวๆ เรียกไม่ถูก เวลาไปสั่งก็ชี้เลย เนื้อไอศครีม ผสมลูกเกดกับมะม่วงหิมพานต์ด้วย ถ้วยเล็ก และแบบโคน มีไอศครีม 3 ลูก ราคา 10 รูปี ถ้าเป็นแบบน้ำ ก็มีไอศครีมวางข้างบน ราคามีทั้ง 15 และ 20 รูปี แล้วแต่ ปริมาณ
แบบถ้วยเล็ก
ไอศครีมมี 3 สีแต่เหมือนจะรสเดียวกัน
รับประกันความอร่อย แบบอินเดี๊ยอินเดีย ไม่ต้องรบกวนแม่ช้อยให้มารำเพราะว่าอยู่ไกล จะรำเองเดี๋ยวแขกจะว่าบ้า เอาเป็นว่าถ้าใครมีโอกาสมา ก็อย่าลืมมาแวะชิมนะคะ
รามนคร
Ramnagar แต่เดิมเป็นที่อยู่ของกษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี ซึ่งชื่อเดิมเรียกกันว่า แคว้นกาสี ในปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ ในยุคศตวรรษที่ 18
ลักษณะของสถาปัตยกรรม มีระเบียงแกะสลัก และมีศาลาที่สวยงามสามารถมองเห็นแม่น้ำคงคงได้อย่างชัดเจน
ด้านในพิพิธภัณฑ์ เก็บรวมรวมของใช้ต่างๆไม่ว่าจะเป็น เครื่องแต่งกาย รถยนต์แบบยุโรป รถลาก ที่บ้างก็ทำจากเครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง และงาช้าง เสลี่ยงก็มีหลายรูปแบบ คล้ายทั้งของจีน และของหลายๆชาติ นาฬิกาโบราณที่ยังสามารถบอกเวลาได้ ดูแล้วตื่นตาตื่นใจมาก
และที่สำคัญก็คืออาวุธหลายรูปแบบ ทั้งปืนสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่เล็กแค่ครึ่งฝ่ามือ ไปจนถึงปืนใหญ่ เกือบร้อยกระบอก และปืนบางประเภทก็มีมีดในตัวด้วย นอกจากนั้นก็มีหอกยาวประมาณสามฟุตอีกมากมาย มีดลักษณะต่างๆทั้งใหญ่และเล็ก บางเล่มเหมือนมีดเพชรฆาต บางเล่มก็โค้งยาวจนน่ากลัว มีดเยอะมาก ตามขื่อก็ประดับไปด้วยมีดเช่นกัน และก็มีสนับมือที่ลักษณะภายนอกเหมือนดาบแต่พอบีบแล้วคลายออกเหมือนกรรไกรแต่มีสามง่ามดูน่ากลัว คันธนูและลูกธนูรูปแบบแปลกๆ โล่ห์โลหะก็มี ที่ดักสิงโตก็มี ถ้าคนที่มีความรู้เรื่องอาวุธต่างๆได้เข้ามาดูก็คงรู้สึกประทับใจอยู่ไม่น้อยเลย
อัตราค่าเข้าชม ชาวต่างชาติคนละ 150 รูปี ชาวอินเดียคนละ 15 รูปี
การถ่ายภาพถ่ายได้แต่ด้านนอก ด้านในห้าม เจ้าหน้าที่อยู้เฝ้าเกือบทุกจุด คอยดูความเรียบร้อย
แขกก็มารอซื้อตั๋วเหมือนกัน
ขอถ่ายคู่กับตำรวจอินเดีย
(โหอยู่อินเดียแดดแรงจากที่ดำอยู่แล้วหนักเข้าไปอีก เศร้าจัง)
ร้านค้าด้านหน้า
ร้านขายน้ำ
Ramnagar อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยพาราณสี (B.H.U.) ประมาณ 3 กิโลเมตร แต่อยู่คนละฝั่งคงคา
ทางข้ามแม่น้ำคงคาแบบชั่วคราว
สะพานตอนนี้กำลังสร้าง ถ้าสะพานเสร็จก็น่าจะไป-มาสะดวกขึ้นอีกเยอะ
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วน
http://www.google.co.th/
24 เมษายน 2553
นาฏศิลป์อินเดีย
ประเภทของนาฏศิลป์อินเดีย
Bharatanatyam
คนอินเดียจะออกเสียงเรียกว่า " ภรัตนาฏยัม "
เป็นนาฏศิลป์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีส่วนสำคัญในพิธีของศาสนาฮินดูสมัยโบราณ ลักษณะที่โดดเด่น คือ ความเข้มแข็ง ความชัดเจนของจังหวะ และความสวยงามของท่าทาง (ที่B.H.U.ก็เปิดสอน)
แหล่งกำเนิดอยู่ที่ Tamil Nadu, Karnataka ทางตอนใต้ของอินเดีย
Kathakali
เป็นการแสดงที่เกี่ยวของกับ Ramanattam หรือ รามายณะ และมีการแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น พระราม พระกฤษณะ
การแต่งหน้ามีเทคนิกซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน
โขน ของบ้านเราก็น่าจะได้รับวัฒนธรรม บางส่วน ไปจากการแสดงประเภทนี้
แหล่งกำเนิดอยูที่ Kerala ทางตอนใต้ของอินเดีย
Odissi
คนอินเดียจะออกเสียงเรียกว่า " โอดิซิ "
มีต้นกำเนิดอยู่ที่ รัฐ Orissa แถบอินเดียตะวันออก ถือว่าการแสดงที่เก่าแก่และเคยสูญหายและได้ถูกกลับนำมาฟื้นฟูอีกครั้ง การแสดงจะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับวัด
โอดิซิ มีลักษณะการแสดงที่อ่อนช้อยและนุ่มนวล
Kathak
มีต้นกำเนิดอยู่ที่ Rajasthan, Uttar Pradesh (Banaras, Jaipur, และ Lucknow gharana) ทางภาคเหนือของอินเดีย การแสดงที่ดูมีชีวิตชีวาประกอบเพลงบรรเลงและการขับร้อง มีลักษณะการเคลื่อนไหวของนาฏศิลป์เปอร์เซียเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการหมุนหลายรอบ และจบด้วยท่ายืนที่สวยงาม (ที่B.H.U.ก็เปิดสอน)
Manipuri
ต้นกำเนิดมาจากรัฐ Manipur, North Easten India ใกล้กับพม่า ลักษณะการแสดง อ่อนช้อยนุ่มนวล มีการใช้เข่ากระทบจังหวะในการรำ
Mohiniyattam
เป็นการแสดงที่มีการใช้ภาษาท่าในการสื่อความหมาย แสดงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระวิษณุ โดยได้รับอิทธิพลมาจากการแสดง Bharatanatyam และ Kathakali
แหล่งกำเนิดอยูที่ Kerala ทางตอนใต้ของอินเดีย
Kuchipudi
เป็นการแสดงของพวกพราหมณ์ที่ดำเนินเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ใช้แสดงในวัด เช่น งานประจำปี แต่เดิมไม่นิยมให้ผู้หญิงแสดง
แต่ระยะหลังจึงมีผู้หญิงแสดง มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ Andhra Pradesh ทางตอนใต้ของอินเดีย
India map
ที่เขียนมาเป็นแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้น ถ้าอยากทราบรายละเอียดของการแสดงแต่ละประเภท ขอแนะนำให้แปลจากข้อมูลภาษาอังกฤษจากที่มาของแต่ละการแสดงจะได้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น
อ้างอิง
http://www.google.co.th/
http://en.wikipedia.org/wiki/Indian_classical_dance
http://www.globalsecurity.org/military/world/india/images/IndiaMap_tourism.gif
23 เมษายน 2553
ศิลปะการเพ้นท์แบบอินเดีย
การเพ้นท์เป็นศิลปะอย่างหนึ่งทางวัฒนธรรมของผู้หญิงอินเดียที่ค่อนข้างจะเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน หรืองานเทศกาลต่างๆ ในพาราณสีก็มีร้านบริการเพ้นท์มืออยู่บ้าง ส่วนราคาก็แต่งต่างกันออกไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1 ร้านแถวตลาดตรงทางไปท่าอัศวเมศ ร้านอยู่ในแถบที่มีนักท่องเที่ยวมาก ราคาค่าเพ้นท์แล้วแต่ลาย ราคาคุยตอนแรก คิดลายละ 100 รูปี สองมือ 200 รูปี พอต่อรองราคาเหลือ สองมือ 100รูปี แต่ก็ยังแพงอยู่ดี ช่างเพ้นท์เป็นผู้ชายฝีมือสวยงามพอใช้ได้
2 ร้านอยู่แถวตลาดลังกาหน้ามหาวิทยาลัย เป็นร้านเสริมสวยชั้นใต้ดินห้องเล็กๆ ที่อยู่แถวๆต้นโพธิ์ ซึ่งแถวนั้นนักศึกษาจะรู้จักดีเพราะจะเป็นย่านถ่ายเอกสารที่ราคาถูกย่านหนึ่ง ร้านเสริมสวยร้านนี้จะกั้นผ้าสองชั้น คล้ายๆกับว่าผู้ชายจะห้ามเข้า มีบริการคล้ายๆร้านเสริมสวยบ้านเรา มีสระผม แว็กขนแขน-ขา กันคิ้ว ตัดผมแต่ทรงผมเค้าตัดรูปแบบง่ายๆไม่หลากหลายเหมือนบ้านเรา และก็มีบริการเพ้นท์
อัตราค่าบริการ สองมือ หน้า-หลัง รวม 4 ลาย ราคา 100รูปี ตกเฉลี่ย ลายละ 25 รูปี ช่างเพ้นท์เป็นวัยรุ่นผู้หญิง ผีมือยังต้องฝึกฝนต่อไป
3 อยู่ตรงชั้น 1 ห้าง IP Mall ก่อนเพนท์เค้าจะทาน้ำมันเย็นๆให้ก่อน คนเพนท์มีสองคน ช่วยกันเพนท์ ฝีมือดี ราคาลายละ 50 รูปี ถ้าจะเพนท์ครั้งต่อๆไปก็คงที่นี่แหละ แต่เพนท์เสร็จจะเข้าร้านบางร้านในห้างไม่ได้ เพราะเค้าจะกลัวเลอะ
4 หรือจะซื้อแบบไม้แกะสลักมาพิมพ์เองก็ได้ แถวท่าอัศวเมศก็มีขาย อันละไม่เกิน 20 รูปี แล้วแต่ลาย ยังไม่เคยทำวิธีนี้เลยไม่กล้ารับประกันคุณภาพ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพ้นท์
1 Mehandi cone คือสีของสมุนไพรที่ใช้เพ้นท์ บางร้านก็ทำเอง แต่ก็มีขายแบบเป็นกรวยสำเร็จรูป ราคาอันละ 10 รูปี ที่เห็นเพ้นท์กันทั่วไปก็คือ สีน้ำตาล
2 น้ำมะนาวหรือ น้ำมันบางชนิด (อันนี้ไม่ทราบว่าน้ำมันอะไรทาแล้วรู้สึกเย็นๆ)
ขั้นตอนในการเพ้นท์
1 เลือกแบบที่ต้องการจากแคตตาลอคของที่ร้าน
2 ช่างก็ลงมือเพ้นท์ ตามลายนั้นๆ เหมือนบ้างไม่เหมือนบ้างแล้วแต่ประสบการณ์ บางทีลายที่ช่างวาดเองก็สวยกว่าลายที่เลือกไว้ ตอนเพ้นท์จะรู้สึกเย็นๆ
3 พอช่างเพ้นท์จนเสร็จก็รอสักพัก ช่างก็จะเอาน้ำมะนาวมาทาให้ ขั้นตอนก่อนและหลังการเพ้นท์ขึ้นอยู่กันเทคนิกของแต่ละร้าน แต่ถ้าร้านไหนไม่ได้ทำให้ กลับบ้านมาค่อนมาทามะนาวเองเพื่อให้ลายที่เพ้นท์ชัดขึ้นก็ได้
4 รอให้สมุนไพรที่เพนท์หลุดออกเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปแกะมัน ลายมันจะได้ชัดๆ
นอกจากสาวแขกจะเพ้นท์มือแล้ว ก็ยังเห็นชาวต่างชาติเพ้นท์เท้าด้วย โดยส่วนตัวเท่าที่เคยเห็น เพ้นท์เท้า ถ้าเพ้นท์ข้างเดียว เลือกลายเก๋ๆก็สวยดีเหมือนกัน
แค่นี้ก็สวยแบบสาวอินเดียแล้ว
ที่ไม่ได้เอารูปตัวเองมาลงไว้เพราะรูปที่โชว์ มีหลากหลายดี ลายเยอะขนาดนี้ยังไม่กล้าเหมือนกันอ่ะนะ
ขอบคุณรูปสวยๆจาก
http://fwmail.teenee.com/etc/8350.html
20 เมษายน 2553
เจาะจมูกที่อินเดีย
อีกหนึ่งประสบการณ์ที่อยากจะเล่า นั่นก็คือการเจาะจมูกที่อินเดียโดยหมอผู้ชำนาญ ขอบอกว่าหมอจริงๆทำงานรักษาคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลนั่นแหละ ที่จริงจากคำบอกเล่าของอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษ บอกว่าผู้หญิงอินเดียจะเจาะจมูกกันตั้งแต่เล็ก โดยที่ผู้ใหญ่จะเจาะให้เองไม่ต้องไปเจาะที่ร้านเหมือนบ้านเรา แต่เหตุผลที่ต้องให้หมอมาเจาะให้ก็เพราะว่าเจาะยากกว่าเด็กๆ เพราะหนังตรงปีกจมูกหนาแล้ว ส่วนเหตุผลที่เจาะก็มีนิดเดียวคือไหนๆก็มาเรียนที่อินเดียแล้ว จะเรียนนาฏศิลป์อินเดียด้วยก็เลยเจาะเตรียมไว้เลย ก่อนจะเจาะจมูกอันดับแรกก็คือ
1 โทรกลับบ้านไปบอกพ่อกับแม่ก่อน(สำคัญที่สุด)พ่อกับแม่ไม่ว่าเพราะพ่อเคยมาอินเดีย สรุป เจาะได้
2 ปรึกษาอาจารย์ถึงขั้นตอนการเจาะว่าอันตรายหรือเปล่าเจ็บหรือเปล่าแต่อาจารย์เป็นผู้ชายไม่เคยเจาะเหมือนกัน555+ แต่แกบอกลูกสาวแกก็เจาะไม่น่ากลัวหรอก
3 เตรียมตัวรอหมอมา มีบริการถึงบ้านเหมือนพิซซ่าเลยแฮะ
ขั้นตอนการเจาะ
1 พิจารณาหมอเพราะหมออินเดียไม่เหมือนหมอบ้านเราหมอบ้านเราเห็นแต่ไกลก็เดาได้ว่าอีตานี่น่าจะเป็นหมอแน่ๆ หมออินเดียคงเป็นเพราะเราไม่คุ้นกับลักษณะบุคลิกของเค้ามั้ง เอาเป็นว่าถ้าไม่บอกว่าเป็นหมอจ้างให้ก็เดาไม่ถูก แต่เค้าก็สุภาพมากๆๆๆ คงเพราะมากับอาจารย์ด้วยแล้วก็เพราะเราเป็นชาวต่างชาติด้วย
2 หมอเตรียมอุปกรณ์วางบนโต๊ะ ซึ่งประกอบไปด้วย เข็มและกระบอกฉีดยาขนาดใหญ่มากๆ กับสำลี ส่วนยาอื่นๆไม่มี และก็ดูเหมือนว่าอาจารย์จะรู้งานเช่นเดียวกันเพราะพกก้านสะเดา(Neem)มาด้วย
3 และแล้วก็ถึงเวลาที่จะเจาะก็เลยบอกหมอว่าขอไปล้างหน้าก่อนเพราะดูแล้วไม่มียาอะไรมาเลย พอล้างหน้าเสร็จกลับมาหมอก็ตั้งหน้าจะเจาะอย่างเต็มที่ ออกแนวน่ากลัวนิดนึง ก็เลยถามหมอว่าไม่ใช้ยาทาเหรอ ไม่มียาหม่องเหรอ ยาอะไรก็ได้ หมอส่งยิ้มหวานพร้อมกับส่ายหน้าแทนคำตอบ นั่นก็หมายความว่า เจาะสดๆ ไร้ตัวช่วยใดๆ เพราะหมอบอกว่าถ้าเจาะสดๆแผลจะหายไว
4 หมอบอกให้นั่งนิ่งๆเงยหน้าขึ้น พอสบตากับเข็มแบบชัดๆก็นึกในใจว่าเข็มใหญ่กว่านี้มันจะมีขายรึเปล่าหนอ ต่อจากนั้นไม่กล้าดูหลับตาอย่างเดียวเพราะกลัว
5 พอเข็มปักเท่านั้นแหละถึงกับสะดุ้งเลยรู้สึกเจ็บ น้ำตาไหลโดยอัตโนมัติ รู้สึกว่าเนื้อตรงจมูกหนาเหมือนกันกว่าจะทะลุลุ้นซะเหนื่อย
6 แล้วหมอก็ดึงเข็มออกและยัดปลายก้านสะเดาเข้าไปแทน ขั้นตอนนี้เจ็บกว่าตอนโดนเข็มเจาะซะอีก พอตัดแต่งก้านสะเดาก็เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย
7 หลังจากนั้นหมอบอกไม่ต้องกินยา ปล่อยไว้เฉยๆประมาณ 3 วันก็หาย และให้คอยหมุนก้านสะเดาไม่ให้ติดกับเนื้อ แต่ไม่กล้าไม่กินยาเลยกินยาแก้ปวดกับยาแก้อักเสบอยู่สักพัก เพราะกลัวเป็นหนอง แล้วก็ทำความสะอาดรอบๆแผลทุกวันด้วยแอลกอล์ฮอล หลังจากนั้นอีก 2 อาทิตย์ ก็เปลี่ยนจากก้านสะเดามาเป็น Nose pin หรือ Nose ringได้เลย
ความแตกต่างระหว่างก้านสะเดากับก้านกระเทียมก็คือ
1 ก้านสะเดาไม่ต้องเหลา
2 ก้านสะเดาเนื้อแข็งกว่า
เค้าเจาะจมูกกันข้างไหน?
ผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ เจาะจมูกข้างซ้าย บางคนก็ใส่ Nose pin บางคนก็ใส่ Nose Ring
บางที่ก็เคยเห็นผู้หญิงอินเดียบางกลุ่มที่โกนหัว จะเจาะจมูกทั้งสองข้างเลย แต่ใส่ Nose pin เป็นรูปสี่เหลี่ยมอันใหญ่
แต่ไม่ว่าจะเป็น Nose pin หรือ Nose ring ที่ผู้หญิงอินเดียจะนิยมใส่ทอง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ยังไม่เคยเห็นคนที่ใส่เงิน
เคยถามครูแล้วครูตอบว่า...เพราะค่านิยมของที่นี่เชื่อกันว่าใส่ทองแล้วจะดูดีกว่า
ส่วนฝรั่งเท่าที่เห็นเจาะจมูกบางคนก็เจาะข้างขวา บางคนก็เจาะข้างซ้าย
แต่ยังไงถ้าใครคิดจะเจาะจมูกก็ควรจะคิดให้ดีก่อนนะคะเพราะการเจาะจมูกสำหรับบ้านเราอาจจะดูไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ต้องดูเหตุผลในการเจาะด้วยนะคะ
Nose pin
Nose ring
อ้างอิง
รูปจาก my.dek-d.com/laksamoln/blog/?blog_id=10051809
www.google.com
18 เมษายน 2553
Songkran Festival at Varanasi 2010
สงกรานต์
เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
และในวันสงกรานต์ของทุกปี กลุ่มสมาคมพระนักศึกษา-นักศึกษาไทยมหาวิทยาลัยพาราณสี ก็ได้จัดงานสงกรานต์ขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของไทยไว้และเพื่อเผยแพร่ประเพณีที่ดีงามของไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก เหล่าพระและนักศึกษาก็ได้เชิญผู้ใหญ่ของทางมหาวิทยาลัยและอาจารย์คณะต่างๆมาร่วมงานเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสรดน้ำและขอพรจากท่าน และการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยเราอีกอย่างหนึ่งก็คือการรำ เพลงที่เราใช้แสดงในวันนั้นคือการแสดงรำเพลง
"ระบำวิชนี" เพราะคิดว่าหน้าจะเป็นเพลงหนึ่งที่เหมาะกับโอกาสนี้
ส่วนประกอบที่ใช้ในการแสดงในวันนั้นคือ
-สวมเสื้อแขนกระบอกในวันนั้นเพราะสถานที่แสดงมีพระหลายรูปจึงสวมเสื้อเพื่อความสุภาพ
-ผ้านุ่งสำเร็จ ตัดจากผ้าส่าหรีที่ซื้อจากบ้านคุณเปมู ซึ่งคุ้นเคยกับพระและนักศึกษาไทยเป็นอย่างดีจึงซื้อได้ในราคา๕๐๐รูปี เคยไปถามราคาที่แถบโกโตเลียราคา๑,๐๐๐รูปีขึ้นไป และตัดโดยคุณลุงช่างตัดผ้าผู้ชายชาวอินเดียใกล้บ้าน คุณลุงบอกว่าเราเป็นลูกค้าผู้หญิงที่มาตัดชุดคนแรกแต่คุณลุงใจดีมากและพยามตัดให้โชคดีที่คุณลุงพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย(ถ้ามีตัวอย่างไปให้คุณลุงตัดได้ทุกอย่าง)ค่าตัดผ้านุ่งสำเร็จ รวมผ้าซับใน ราคา๒๕๐รูปี
-สไบ ซื้อผ้าจากโกโตเลีย ราคาเมตรละ๑๕๐รูปี ซื้อมา๓เมตร ตัดสไบได้๒ผืน ผืนบาง๑ผืน ผืนหนาใช้๒ผืนเย็บประกบกันอีก๑ผืนค่าเย็บสไบ๒ผืน ๒๐รูปี
-พัด ซื้อพัดจากตลาดลังกาหน้ามหาวิทยาลัย พัด๒อัน ราคา๑๕รูปี สีและอุปกรณ์ตกแต่งราคารวมประมาณ๑๐๐รูปี ลงสีพัดโดยน้องต้อง บัณฑิตจากคณะศิลปะที่เพิ่งจบจากที่นี่ ตกแต่งพัดโดยบอดี้การ์ดหน้าหวานส่วนตัว ไม่คิดค่าแรง ใช้แรงงานต่างด้าวรึเปล่าหนอเรา
-เครื่องประดับอื่นๆขนมาจากไทย
-หน้า,ผมทำเอง
-เพลงที่ใช้รำ ฮอลลี่ ลูกศิษย์ของอ.นิยม แนบไฟร์ส่งมาให้ มีปัญหา ฮอลลี่จัดให้
-คิดอยู่ว่าถ้ากลับไทยต้องซื้อผ้ายกมาด้วย เพราะตระเวนหาทั่วพาราณสีแล้วไม่มี จะเอาผ้าส่าหรีลายสวยๆมาใส่แทนผ้ายกก็คงจะนุ่งยากเพราะส่าหรีลายสวยแต่บาง และหน้าผ้าก็กว้างมากเกินกว่าจะพับแล้วนุ่งแบบผ้ายก
-กิ๊บดำ ลักษณะไม่เหมือนบ้านเรา กิ๊บดำอินเดียจะโค้ง ไม่รู้จะใช้ถนัดหรือเปล่าเพราะยังไม่เคยทดลองใช้
-เครื่องสำอาง ยี่ห้อ MTI ไม่มีขาย ที่พอจะหาได้ก็มีแต่ยี่ห้อ LAKME,REVLON ส่วนตาแขก(KAJAL)และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่นี่เค้านิยมยี่ห้อ HIMALAYA
-เสปรย์ฉีดผม เหมือนจะไม่มี เห็นมีแต่เจลแบบหลอด ถ้ายังไงจะลองไปถามที่ร้านทำผมใหญ่ๆดูอีกที
และแล้วก็ทำหน้าที่ๆได้รับมอบหมายจากสมาคมเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชุดมาดูเค้าเล่นน้ำสงกรานต์ ดูแล้วชาวต่างชาติที่มาในงานรู้สึกประทับใจกับประเพณีสงกรานต์ของบ้านเรามาก แต่เวลาแขกวัยรุ่นมาเล่นน้ำด้วยเค้าราดน้ำตั้งแต่หัวลงมาเลยแฮะ ปีนี้ก็เลยได้เล่นสงกรานต์ ตอนอยู่ไทยอยากเล่นแต่ไม่ได้เล่นมาหลายปีมากๆ ถือว่างานสงกรานต์ที่พาราณสีปีนี้สนุกจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/