07 เมษายน 2555

เลือกซื้อส่าหรี่

 อยู่อินเดียมาสองปีกว่าแล้ว ชุดปกติที่ใส่ไปคณะคือชุดที่เรียกว่า ซัลวา หรือไม่ก็ คามีส เป็นชุดแบบกางเกง นักศึกษาส่วนใหญ่จะไปเรียนกันเป็นปกติ ซึ่งเราเองก็เป็นนักศึกษา จึงจำเป็นต้องใส่ชุด แบบแขกเช่นเดียวกันถือเป็นการให้เกียรติสถานที่ ทำให้การใส่ชุดแขกค่อนข้างจะเป็นเรื่องปกติ

แต่สำหรับวันที่ต้องเป็นพิธีการ หรือวันที่ร่วมในงานสัมมนา ก็อาจมีบางครั้งที่ต้องใส่ส่าหรีบ้าง จากประสบการณ์ตรงของตัวเองในการเลือกซื้อส่าหรี ตามชนิดของผ้า ก็คือ

ผ้าไหม เอาไว้ใส่ไปงาน ที่เป็นทางการ เช่น การสัมมนาหรือการเข้าร่วมงานที่เป็นพิธีการมากๆ ผืนที่ซื้อมา ราคา 3000รูปี ใส่เสร็จ ต้องส่งร้านซักแห้งเพราะ ตัวเองไม่มีความสามารถจะซักเองได้ กลัวพัง

Georgette ใช้ใส่ทั่วไป ใส่ไปงานปารตี้ มีให้เลือกเยอะ เหมือนจะเป็นที่นี่ยม ข้อดีคือไม่ต้องรีด 

Chiffon  ใช้ใส่ทั่วไป ใส่ไปงานปารตี้ มีให้เลือกเยอะ เหมือนจะเป็นที่นี่ยม ข้อดีคือไม่ต้องรีด เช่นเดียวกัน และรวมถึงการใส่ถ่ายรูปตามร้านถ่ายรูปต่างๆ เพราะคุณสมบัติของผ้าจะแนบตัว สวยกว่าผ้าชนิดอื่น


Cotton ใช้ใส่ทั่วไป ข้อดีคือใส่แล้วไม่ร้อน แต่เวลาไปซื้อ จะไม่ค่อยชอบเพราะรู้สึกว่า จะเป็นที่นิยมคนสูงวัย

จากประสบการณ์ตัวเองที่เคยใส่ส่าหรี คิดว่า ผ้า Chiffon ใส่ง่ายกว่าผ้าไหม สามารถใส่เองได้ ส่วนผ้าไหมค่อนข้างใส่ลำบากกว่า ชนิดที่ว่า จะไปสัมนา ต้องใส่ส่าหรีผ้าไหม ต้องไปเคาะประตูเรียกข้างบ้านมาให้ช่วยใส่ให้เลยที่เดียว เล่นเอาแขกตื่นเต้นกันหมด เพราะต่างชาติใส่ส่าหรีครั้งแรก แถมยังต้อง ขี่มอร์เตอร์ไซด์ สะพายโน๊ตบุค ไปสัมมนาด้วยเนี่ย ช่างเป็นอะไร สาหัสสำหรับต่างชาติอย่างเราพอสมควร ความรู้สึกเหมือนกับ นุ่งผ้าจีบหน้านาง ห่มสไบ  ขี่มอร์เตอร์ไซด์ ประมาณนั้น แต่รายละเอียดยังมีอีกพอสมควร จากความสนใจเรื่องส่าหรี และการคุยกะคนอินเดีย ทำให้ได้ข้อคิดว่า บางทีเราเองซึ่งเป็นต่างชาติ อาจไม่รู้รายละเอียด เลยอาจมองดูแปลกๆ แต่แขกให้อภัยแค่แอบขำ เช่น เบร้า หรือเสื้อข้างใน ไม่พอดีตัว ซื้อแบบสำเร็จมา ตัวใหญ่มาก ชนิดก้มทีนึงเห็นไปถึงลำไส้ใหญ่เลยทีเดียว หรือ ลายส่าหรี ที่เลือกมา ลายป้ามากๆ  แต่ก็น่ายินดีที่ชุดส่าหรี เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่โดดเด่นและสวยงาม จริงๆ ชุดส่าหรี สามารถใส่ได้ตั้งแต่ทำงานปกติ ไปจนถึงใส่ไปงานใหญ่ๆกันเลยทีเดียว ลักษณะการใส่ก็มีหลายแบบ เช่น ใส่แบบปกติ ใส่แบบแฟชั่น ใส่แบบพื้นบ้าน ใส่แบบโจงกระเบน ส่วนตัวชอบที่ใส่แบบพื้นเมือง แต่ไม่กล้าใส่เพราะเคยถามน้องๆชาวอินเดียว่าใส่แบบนี้ สวยดี น้องกระซิบบอกว่า พี่อย่าใส่แบบนี้นะ เดี๋ยวเค้าจะว่าๆพี่มาจากบ้านนอก แป่วววว คงพอใส่ได้มั้ง เพราะเรามัน นักเรียนบ้านนอกนี่นาาาา 

   

17 กุมภาพันธ์ 2554

พาราณสี...ก็มี Pizza อร่อย

พิซซ่าเป็นอาหารจานด่วนที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ที่พาราณสีก็มีพิซซ่าให้เลือกทานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Pizza Hut , Domino 's Pizza , Pizza corner สามารถโทรสั่งได้


ร้าน Pizza Hut อยู่ที่ห้าง JHV Mall อยู่แถว โรงแรม Ramada  ห้างนี้จะอยู่ห่างจาก BHU ประมาณ 14 กิโลเมตร Pizza Hut ที่พาราณสี เมนูก็จะคล้ายๆกับที่บ้านเรา แต่จะไม่มีพวกอาหารทะเล

ร้าน Domino 's Pizza และ Pizza corner อยู่ที่ห้าง IP Mall  เป็นพิซซ่ารสชาดแบบแขกๆ


ส่วนพิซซ่าที่ขายตามร้านอาหารที่อร่อยก็น่าจะเป็นพิซซ่าที่ร้าน Phulwari restaurant  ร้านนี้ไปตามคำแนะนำของน้องที่มาเรียนอยู่ที่นี่นานแล้ว น้องเค้าบอกว่าพิซซ่าอร่อยจริงๆ ชาวต่างชาติไปทานกันเยอะมากๆ
Phulwari restaurant จาก BHU ไปทางโกโดเลีย ตรงไปตามถนนอยู่เลยแยกทางเข้า ท่าอัศวเมศไปประมาณ 50 เมตร จะเห็นเป็นซุ้มประตูโบราณอยู่ทางด้านขวามือของถนน



Phulwari เป็นร้านอาหารประเภท vegetarian ร้านนี้จะติดกับวัด บรรยากาศภายในร้านก็ร่มรื่น เงียบสงบ ซึ่งแตกต่างจากบริเวณถนนด้านนอกที่มีรถแออัดโดยสิ้นเชิง




เมนูทางร้านก็มีหลายอย่าง พิซซ่าก็มีหลายหน้าแล้วแต่เลือก แต่ที่อยากจะแนะนำก็คือ Phulwari พิซซ่า แป้งนุ่ม ชีสเยอะ ราคาก็ไม่แพง อร่อยด้วย 







16 กุมภาพันธ์ 2554

ดูหนังที่อินเดีย

วันวาเลนไทน์ปีนี้ได้มีโอกาสไปดูหนังกะเค้าซะที หลังจากเลิกเรียน
ประมาณ 6 โมงเย็น ก็ตรงไปที่ ห้างIP Mall  Sigra Varanasi ห้างนี้อยู่ห่างจาก BHU ประมาณ 8 กิโลเมตรน่าจะได้ แต่ที่ชอบไปห้างนี้เพราะได้ไปหาอะไรทานที่ McDonald's ด้วย
ก่อนอื่นก็ไปดูรอบหนังและซื้อตั๋วหนังกันก่อน ที่ซื้อตั๋วหนังของห้างนี้จะอยู่ข้างหน้า ด้านนอกของห้างจะเขียนว่า BOX OFFICE ก็เข้าไปซื้อได้เลย ถ้ายังไม่รู้จะดูเรื่องอะไรเค้าก็จะมีโปรแกรมเล็กๆแจกให้
หลังจากดูโปรแกรมแล้วเรื่องที่อยากดูก็่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก เพราะจะดูให้เข้ากับเทศกาล...ประมาณนั้นเวลาฉายก็ 2 ทุ่มพอดีไม่ดึกมากเกินไป ตอนซื้อตั๋วก็บอกคนขายว่าจะดูเรื่อง Angel (เป็นหนังอินเดีย)



คนขายที่เหมือนภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะแข็งแรงซักเท่าไหร่ ก็ทำท่าเหมือนงง เราก็เลยงงปนเสียดายว่าที่นั่งคงจะเต็มหมดแล้ว หลังจากคนขายกดโทรศัพท์ถามใครบางคนก็สรุปว่ามีตั๋ว ราคาตั๋ว(เลือกที่นั่งหลังสุด) รวมภาษีแล้วราคา 150 รูปี พอซื้อตั๋วเสร็จก็จะไปรอที่ไหนไม่ได้นอกจากไปรอในร้าน McDonald's ดีกว่า ก่อนเข้าห้างที่อินเดียทุกครั้งจะต้องมีการตรวจกระเป๋าก่อนโดยหน้าประตูจะมียามผู้ชายคนนึงผู้หญิงคนนึงคอยยืนตรวจกระเป๋า และคอยถามว่าสูบบุหรี่รึเปล่าเพราะเค้าห้ามนำบุหรี่เข้าไปสูบในห้างด้วย

บรรยากาศในร้าน Mc ก็เหมือนบ้านเรา อาหารในร้านก็จะมีทั้งแบบ veg และ non-veg เพราะบางคนไม่ทานเนื้อสัตว์ ราคาอาหารก็พอๆกับบ้านเราแต่ตัวเลขอาจจะดูแพงกว่าเพราะคิดเป็นเงินรูปี
เช่น เซ็ต นักเกต 9 ชิ้น มีมันฝรั่งทอด กับโค๊กขนาดกลาง ก็ราคา 159 รูปี ยังไม่รวมภาษี

ได้เวลาแล้วก็ไปดูหนังกันเลย ก่อนเข้าไปบริเวณที่ดูหนังก็ยังมีพนักงานตรวจอีก ตรวจแม้แต่กระเป๋าเงิน โห! งงเหมือนกัน



พอเข้าไปด้านในบรรยากาศในโรงหนังเหมือนบ้านเรานั่นแหละ เก้าอี้นุ่มสบายปรับได้ ได้เวลาหนังฉายแล้ว ไม่มีโฆษณาใดๆทั้งสิ้น มีรูปพระพิคเณศวร์ขึ้นบนจอ แล้วก็เริ่มเรื่องเลย

หนังที่ดูเป็นหนังรักโรแมนติก ภาษาฮินดี ก็ที่นี่อินเดียนี่นา ดูภาพไปจับใจความพอรู้เป็นบางคำ ก็ซึ้งดี ชอบเหมือนกัน และสไตล์หนังแขกก็มีทั้งร้อง ทั้งเต้น ดาราแขกนี่ต้องยอมรับเค้าเลย ว่า เค้าร้อง เค้าเต้นกันเก่งจริงๆ แต่นับคนดูทั้งหมดรวมคนเดินตั๋วด้วย ในโรงมีคนดู 8 คน คนเดินตั๋ว 1 คน จะคุ้มทุนมั้ยเนี่ย แต่ตอนซื้อตั๋วคนเยอะเลยนะ สงสัยแขกจะไปดูหนังบู๊กันหมด เพราะอีกโรงเค้าฉายหนังบู๊ สำหรับโรงหนังอินเดียพอฉายหนังไปได้ครึ่งเรื่อง จะมีการพักประมาณ 10 นาที (งงว่าจะพักทำไมมันขาดช่วง) และในช่วงนั้นก็จะมีคนมาคอยถามว่าเอาพิซซ่ารึเปล่า
พิซซ่าคอร์เนอร์ บริการถึงที่ สั่งได้ 5 นาทีมาส่ง หลังจากนั้นก็ฉายหนังต่อ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาดูหนัง โรงหนังอินเดียจะต่างจากบ้านเราคือจะมีพักครึ่ง
ให้สั่งพิซซ่าได้ด้วย เหมือนกันทุกที่เลย เราอาจจะว่าแปลกแต่แขกเค้าว่าธรรมดาจ้า...

หนังจากบ้านเราก็มีมาฉายที่นี่เหมือนกันเช่น เรื่อง ต้มยำกุ้ง องค์บาก คนไฟบิน เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิยมน่าจะเป็นหนังบู๊ พากษ์เป็นภาษาฮินดี ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนอินเดียเป็นอย่างมาก คนมารอซื้อตั๋วกันจนแน่น น่าภูมิใจกับหนังไทยด้วยจริงๆ

รูปจาก
http://www.google.com/